แหล่งดำน้ำประดิษฐ์บนเกาะเต่า

Share

เยี่ยมชมแหล่งดำน้ำประดิษฐ์บนเกาะเต่า

เกาะเต่าเป็นแหล่งดำน้ำลึกที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลก นับจากจำนวนนักดำน้ำที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จึงมีการสร้างแหล่งดำน้ำประดิษฐ์เพิ่มขึ้น เพื่อลดผลกระทบและแรงกดดันต่อแนวปะการังที่บอบบาง

แหล่งดำน้ำประดิษฐ์เหล่านี้นับว่ามีประโยชน์มากต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่น

Artificial Dive Sites around Koh Tao
Artificial Dive Sites around Koh Tao

ประโยชน์ที่ว่านี้ ได้แก่ :

1) ลดแรงกดดันให้แหล่งดำน้ำยอดฮิตรอบเกาะเต่า

การมีแหล่งดำน้ำทางเลือกมากขึ้น จะช่วยลดจำนวนนักดำน้ำในแหล่งดำน้ำธรรมชาติให้มีน้อยลง

2) เพิ่มจำนวนสถานที่ฝึกดำน้ำที่เหมาะสมกับนักดำน้ำมือใหม่

จุดดำน้ำประดิษฐ์ทั้งหมดของเกาะเต่าเหมาะสำหรับการฝึกดำน้ำที่ไม่ลึกมาก ยกเว้นที่จุดดำน้ำซากเรือหลวงสัตกูดและ MV Trident

โปรแกรมทดลองเรียนดำน้ำลึก Discover Scuba Diving  และหลักสูตรดำน้ำ Open Water ได้รับประโยชน์จากแหล่งดำน้ำประดิษฐ์เหล่านี้เป็นอย่างมาก เพราะใช้เป็นสถานที่ให้นักดำน้ำมือใหม่ได้ฝึกการลอยตัว ถือเป็นการหลีกเลี่ยงการทำลายแนวปะการังธรรมชาติ

3) จัดหาที่อยู่อาศัยและทำหน้าที่เป็นแหล่งอนุบาลสิ่งมีชีวิตในทะเล ทำให้สัตว์หลายชนิดมีบ้านที่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน

แนวปะการังประดิษฐ์มีพื้นผิวโครงสร้างที่แข็ง ซึ่งเป็นบริเวณที่สาหร่ายและเพรียงจะเกาะติดเพื่อเป็นที่อยู่ให้ปะการังเจริญเติบโตได้ นอกจากนี้โครงสร้างของแหล่งดำน้ำประดิษฐ์จะมีรอยแตกและรูมากมาย เพื่อเป็นที่พักพิงของสิ่งมีชีวิตในทะเลและใช้หลบซ่อนตัวจากผู้ล่า

4) เพิ่มปริมาณของปะการังบริเวณเกาะเต่าผ่านโครงการขยายพันธุ์ปะการัง

เศษปะการังที่ตกอยู่บนพื้นมหาสมุทร (ปะการังที่ยังมีโอกาสรอด) หรือที่หักระหว่างพายุหรือจากเรือที่ทอดสมอ ได้ถูกเก็บรวบรวมนำมาขยายพันธุ์ใหม่

จากนั้นเราใช้ปะการังพวกนี้ปลูกถ่ายลงในโครงสร้างเทียม ซึ่งช่วยการขยายตัวของปะการังให้เติบโตขึ้น

เมื่อพวกมันโตพอสมควร ชิ้นส่วนปะการังจะถูกนำออกจากโครงสร้างเทียมและย้ายกลับไปที่แนวปะการังตามธรรมชาติ เพื่อให้มันงอกใหม่และเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างแข็งแรง

แนวปะการังเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้น ส่วนใหญ่จะถูกวางในพื้นที่กว้างที่มีแนวปะการังน้อยหรืออาจจะไม่มีเลย เช่น บริเวณว่างของก้นทะเลที่มีแต่ทรายจำนวนมาก

นี่คือตัวอย่างบางส่วนของแหล่งดำน้ำเทียมยอดฮิตบนเกาะเต่า

Junkyard Reef Dive Site Koh Tao
Junkyard Reef Dive Site Koh Tao

แหล่งดำน้ำจังก์ยาด รีฟบนเกาะเต่า

ในปี พ.ศ. 2549 เกิดอุบัติเหตุโครงเหล็กหลังคาสำหรับบังแดดของเรือสปีดโบ๊ทพุ่งชนแนวปะการัง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากแม่หาด กลุ่มนักดำน้ำที่มีใจรักการอนุรักษ์จึงเข้าไปทำการช่วยเหลือ

แต่แทนที่จะเก็บทุกอย่างแล้วนำกลับเข้าฝั่ง พวกเขากลับมีอย่างอื่นอยู่ในใจ เลือกที่จะว่ายน้ำออกไปและทิ้งมันลงไปในพื้นทรายแทน

และนั่นคือจุดเริ่มต้นของจุดดำน้ำปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในแหล่งฝึกดำน้ำที่ได้รับความนิยมมากที่สุดอยู่ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของเกาะเต่าไป 500 เมตร

มีจุดเริ่มต้นประมาณ 6 เมตรทางตะวันตกของแนวปะการังน้ำตื้นนอกอ่าวแม่หาด และทอดยาวเหนือพื้นทราย จุดที่ลึกที่สุดอยู่ที่ประมาณ 11 เมตร

เมื่อเวลาผ่านไป มีการเพิ่มโครงสร้างโดยใช้วัสดุที่แตกต่างกัน รวมถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายเก่าๆ เช่น ดัมเบลล์ จักรยานออกกำลังกายและชั้นวางอุปกรณ์ดำน้ำเก่าที่บริจาคโดยโรงยิมในท้องถิ่นและโรงเรียนสอนดำน้ำ

Junkyard Reef Dive Site Koh Tao - Saddleback Clownfish
Junkyard Reef Dive Site Koh Tao – Saddleback Clownfish

ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในทะเล

เมื่อจังก์ยาด รีฟได้รับการพัฒนาและมีขนาดใหญ่ขึ้น มันได้กลายเป็นที่ดึงดูดสิ่งมีชีวิตในทะเลให้มาอาศัยอยู่ที่นี่มากขึ้น

มีการเพิ่มโครงสร้างปูนซีเมนต์ที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับปลูกปะการัง รวมถึงเอารถบรรทุกเก่าที่ถอดเครื่องยนต์ออกและทำความสะอาดแล้วมาเพิ่มเข้าไปในแหล่งดำน้ำแห่งนี้

ในปีพ.ศ. 2554 ได้มีการจัดตั้งสถานเพาะเลี้ยงปะการังขึ้น ซึ่งทำให้ชิ้นส่วนปะการังเล็กๆสามารถเติบโตได้ง่ายขึ้นก่อนที่จะปลูกลงบนโครงสร้าง

ตั้งแต่นั้นมา โครงสร้างเหล็กได้ถูกออกแบบให้เป็นแบบแยกส่วน ทำให้ง่ายต่อการติดเศษปะการังเข้าไปและปล่อยให้กระแสน้ำและคลื่นไหลผ่าน โดยมีแรงต้านน้อยที่สุดและควรอยู่ได้ประมาณหนึ่งทศวรรษ

ในที่สุดเมื่อน้ำหนักของปะการังแข็งแรงและมากพอที่จะทำให้โครงสร้างเหล็กนี้ยุบตัวลงมา พวกมันก็ยังจะสามารถเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

ในปี พ.ศ. 2561 The Art Rising – โครงการศิลปะเพื่อสังคมได้รับทุนออกแบบ และสร้างมาซู Mazu – เป็นโครงสร้างคอนกรีตเกือบ 2 ตัน รองรับด้วยโครงเหล็กและตาข่ายคลุมก่อนที่จะเทซีเมนต์ทับ

เป็นโครงสร้างที่หนักที่สุดของจังก์ยาด รีฟ และใช้ถังพลาสติกขนาดใหญ่ 100 x 20 ลิตรเพื่อให้พวกมันลอยตรงตำแหน่งที่กำหนดและทำการจมลงไป

ปัจจุบันจังก์ยาด รีฟเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลกว่า 100 ชนิด รวมถึงปลาปักเป้า ปลาการ์ตูนอานม้า ปลาหูช้างและอื่นๆอีกมากมาย

นอกจากนี้ยังมีการปลูกถ่ายปะการังมากกว่า 1,000 รายการที่จังก์ยาด รีฟ

จังก์ยาด รีฟยังคงดำเนินการ แหล่งดำน้ำแห่งนี้เป็นตัวอย่างที่สำคัญของสิ่งที่ชุมชนท้องถิ่นและอาสาสมัครจำนวนมากร่วมใจกันทำจนสำเร็จ

ถือเป็นตัวอย่างที่ดีในการเริ่มต้นสร้างแหล่งดำน้ำเทียม ด้วยงบประมาณเพียงเล็กน้อยและปล่อยให้มันเติบโตขึ้นเรื่อยๆ

Buoyancy World Dive Site Artificial Structures
Buoyancy World Dive Site Artificial Structures

แหล่งดำน้ำบัวยันซี่ เวิลด์ที่เกาะเต่า

การวางแผน การเตรียมการของบัวยันซี่ เวิลด์เป็นโครงการริเริ่มของคนในเกาะเต่าที่รวบรวมนักดำน้ำ กลุ่มธุรกิจและชุมชนท้องถิ่นในช่วงปี 2552-2554

บัวยันซี่ เวิลด์ตั้งอยู่ในน้ำลึก 10 ถึง 16 เมตร เป็นการว่ายน้ำสั้นๆออกไปทางเหนือของกองหินทวิน ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำยอดฮิตของเกาะเต่า และมีแนวคิดที่เรียบง่ายมาก

แนวคิดของที่นี่คือการสร้างแหล่งดำน้ำเฉพาะสำหรับการฝึกนักดำน้ำลึก เพื่อช่วยลดความกดดันต่อแนวปะการังตามธรรมชาติ มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการเติบโตของสิ่งมีชีวิตในทะเลและปะการัง

โรงเรียนสอนดำน้ำและธุรกิจหลายแห่งมีส่วนร่วมในการสร้างโครงสร้างเหล่านี้ขึ้น ซึ่งรวมถึงโครงสร้างขนาดใหญ่ที่เป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น เต่า ฉลามและหมึกยักษ์ มีซากเรืออับปาง ซึ่งใช้เป็นที่ตั้งของสถานอนุบาลปะการัง ซึ่งตอนนี้มีปะการังเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก

สิ่งมีชีวิตใต้ทะเลสวยๆบางตัวอาศัยอยู่ที่บัวยันซี่ เวิล์ด รวมถึงปลาวัวไททัน ปลาค้างคาว ปลาโนรีครีบยาวและอื่นๆ

HTMS Sattakut Wreck - Wheelhouse
HTMS Sattakut Wreck – Wheelhouse

จุดดำน้ำเรือหลวงสัตกูดบนเกาะเต่า

กองทัพเรือไทยได้ทำการจมของเรือหลวงสัตกูดเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2554 โดยจมเรือลงในพื้นทรายทางตอนใต้ของแหล่งดำน้ำหินพีวี เพื่อให้เป็นเรือสำหรับนักดำน้ำบนเกาะ

ด้วยความลึกสูงสุด 30 เมตร ที่นี่จึงเหมาะสำหรับหลักสูตรดำน้ำเฉพาะทาง ได้แก่ การดำน้ำสำรวจซากเรือจมและการดำน้ำลึก (Wreck&Deep Diver) และส่วนที่ตื้นที่สุดของซากเรืออยู่ที่ประมาณ 18 เมตร ถือเป็นการดำน้ำที่ดีที่สุดสำหรับนักดำน้ำขั้นสูง

ตอนนี้เกือบ 10 ปีแล้วที่เรือหลวงสัตกูดเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลหลากหลายสายพันธุ์

คุณจะเห็นฝูงปลาสากหางเหลืองและปลากะพงว่ายอยู่รอบนอกซากเรือ

แต่ภายในซากเรือ คุณจะพบกับปลาเก๋าหลายสายพันธุ์และปลาสลิดหินตัวเล็กๆหลายพันตัวว่ายวนอยู่บนซากเรือ

เมื่อทัศนวิสัยดี คุณสามารถเห็นกองหินพีวีได้จากเรือ ซึ่งเป็นอีกจุดดำน้ำที่คุณสามารถรวมไว้ในแผนการดำน้ำได้ถ้าคุณดำน้ำแบบใช้ Nitrox และบัดดี้ของคุณมีการควบคุมการใช้อากาศที่ดี

โครงการเรือหลวงสัตกูดเป็นความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและองค์กรปกครองท้องถิ่นของเกาะเต่า ที่นี่เป็นแหล่งดำน้ำเทียมขนาดลึกที่ประสบความสำเร็จที่สุดของเกาะเต่า ถือเป็นการดำน้ำสำรวจซากเรือจมระดับพรีเมียม

นอกจากนี้ยังมีจุดดำน้ำและโครงสร้างเทียมในสถานที่อื่นๆ รอบเกาะเต่า

Aow Leuk Dive Site - Artificial Dive Site Area
Aow Leuk Dive Site – Artificial Dive Site Area

จุดดำน้ำอ่าวลึกบนเกาะเต่า

อ่าวลึกอยู่ทางด้านทิศใต้ของเกาะเต่า มีโครงสร้างเหล็กหลากหลายรูปแบบ รวมถึงโครงสร้างใหม่ที่รองรับรูปการใช้กระแสไฟฟ้าแบบต่ำจาก Coral Aid’s NETV3 Duo ซึ่งการใช้ไฟฟ้ากระแสต่ำนี้ จะช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของปะการัง

อีกโครงการที่ตั้งอยู่ในอ่าวลึกคือโครงสร้างคอนกรีตบล็อกที่ได้รับการสนับสนุนจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในหินงาม ซึ่งเป็นโครงสร้างคอนกรีตบล็อกสี่เหลี่ยมขนาด 5 เมตร มีน้ำหนักมากกว่าหนึ่งตันวางซ้อนทับกันเพื่อสร้างโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่

Tanote Bay Dive Site on Koh Tao - Scooter
Tanote Bay Dive Site on Koh Tao – Scooter

จุดดำน้ำอ่าวโตนดบนเกาะเต่า

อ่าวโตนดมีซากเรือคาตามารันจมอยู่ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตมากมายและเป็นแนวปะการังธรรมชาติที่มีโครงสร้างเทียมด้วย

โครงการลูกบอลปะการังที่นี่ช่วยทดแทนแนวปะการังตามธรรมชาติบางส่วนที่สูญเสียไปเนื่องจากการพังทลายของดินและดินถล่มที่เกิดจากเทคนิคการก่อสร้างสมัยก่อน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งในความสำเร็จของการทำแหล่งน้ำประดิษฐ์